หากจะกล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยก็คงมีมากมายหลายหลากจนนับไม่ถ้วน แต่ถ้าหากเจาะจงลงไปให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยอันงดงามนั่นก็คือ วัด เพราะไม่ว่าวัดเก่าวัดใหม่ที่ใดก็แล้วแต่นอกจากจะใช้เป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีทางศาสนาแล้วยังแฝงไปด้วยศิลปะอันงดงามไปด้วย
หนึ่งในวัดที่งดงามมีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ในประเทศไทยที่เมื่อเหล่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เข้ามาแล้วต้องไปเยี่ยมชมกันให้ได้ แม้แต่คนไทยอย่างเรา ๆ ก็ยังต้องทึ่งในสถาปัตยกรรมอันงดงามนั่นก็คือ วัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ฝีมือการออกแบบและร่วมในการก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้ที่เรารู้จักกันดีในนามนักศิลปะผู้มีชื่อเสียง และศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) แล้วอย่างนี้จะธรรมดาได้อย่างไรกัน
วัดร่องขุ่น ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาจารย์เฉลิมชัยเอง เดิมทีวัดแห่งนี้มีความเก่าแก่และชำรุดทรุดโทรม อาจารย์ท่านจึงอยากจะบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่เกิดแรงบันดาลใจมากกว่านั้นคืออยากสร้างศิลปะอันเป็นตัวแทนแห่งศาสนาพุทธหรือที่เรียกว่า พุทธศิลป์ ขึ้นเพื่อประกาศความงดงามพร้อมความยิ่งใหญ่ของศาสนาพุทธให้เลื่องลือเป็นที่ประจักษ์ไปทั่ว และเพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วย จึงได้ริเริ่มบูรณะก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2540 จนกระทั่งปัจจุบันนี้วัดร่องขุ่นได้กลายเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่งดงามราวกับท่องอยู่บนสวรรค์ ด้วยการก่อสร้างที่เน้นสีขาวไปทั้งหมดซึ่งแสดงถึงความบริสุทธิ์ของจิตใจ ทำให้ชาวต่างชาติเรียกวัดร่องขุ่นอีกชื่อหนึ่งว่า White Temple โดยเริ่มตั้งแต่พระอุโบสถที่มีการปั้น แกะสลัก สลับด้วยกระจกขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องแห่งพระพุทธศาสนา


สถาปัตยกรรมการก่อสร้างทุกจุดในวัดร่องขุ่นนอกจากจะงดงามแล้วยังแฝงไปด้วยนัยยะแห่งพระพุทธศาสนาในทุกที่ เช่น สะพานที่ใช้เดินข้ามไปที่พระอุโบสถนั้น บริเวณสันของสะพานจะมีรูปของอสูรอยู่ตลอด จะชี้ให้เห็นว่าอสูรนั้นแทนเหล่ากิเลสทั้งหลาย บริเวณกลางสะพานเป็นเขาพระสุเมรุซึ่งถือว่าเป็นที่อยู่ของเหล่าเทพเทวา มนุษย์หากเดินข้ามสะพานนี้มาก็เปรียบได้ดังการก้าวข้ามเอาชนะกิเลสตนจึงจะมีความสุขซึ่งเปรียบได้ดังเหล่าเทพเทวานั่นเอง เมื่อข้ามสะพานมาแล้วก็จะพบดอกบัวใหญ่สี่ดอกบริเวณทางขึ้นพระอุโบสถ นัยยะแห่งดอกบัวนี้จะแทนพระอริยสงฆ์ทั้งสี่ อันได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ นั่นก็จะสื่อว่าหากเรารู้จักละทิ้งซึ่งกิเลสก็จะเปรียบได้ว่าเป็นพระอริยสงฆ์ เมื่อเดินเข้าสู่ด้านในพระอุโบสถก็จะพบจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีทองที่แสดงภาพการหลุดพ้นจากมารและกิเลสเพื่อมุ่งเข้าสู่โลกุตรธรรมในที่สุด
ความงดงามภายในวัดร่องขุ่นนั้นมีอีกมายมายรอให้ท่านไปเยี่ยมชม นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินเจริญตาจากความสวยความงามภายนอก ท่านก็จะได้เจริญใจไปกับพระธรรมคำสอนที่อาจารย์เฉลิมชัยตั้งใจสอดแทรกไว้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมอันงดงามระดับโลกที่แฝงไปด้วยนัยยะทางพระพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้งและงดงามเป็นอย่างยิ่ง